Search

“นกสกู๊ต” เจ๊งก็คือเจ๊ง ถามชาวประมงก็คงไม่เข้าใจ แต่ถ้าถาม “นกแอร์-การบินไทย” น่าจะรู้เรื่อง - ผู้จัดการออนไลน์

fisharenazone.blogspot.com


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - “สายการบินนกสกู๊ต (NokScoot)” ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2557 จากการร่วมมือทางธุรกิจระหว่าง “สายการบินสกู๊ต ประเทศสิงค์โปร์และสายการบิน นกแอร์ ประเทศไทย” ในการทำธุรกิจสายการบินระหว่างประเทศราคาประหยัด ซึ่งในช่วงที่ดำเนินกิจการก็ “วาดฝัน” กันเอาไว้ใหญ่โต

แต่ในที่สุดแล้ว สายการบินแห่งนี้ก็มีอันต้องล้มหายตายจากไป โดยเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา คณะกรรมการสายการบินนกสกู๊ตได้มีมติเลิกกิจการด้วยมองไม่เห็นหนทางฟื้นตัวหลังเจอโควิด-19 พร้อมประกาศชดเชยเลิกจ้าง 425 คน ตามกฎหมาย

อย่างไรก็ดี ถ้าจะว่าไป การที่ “สายการบินนกสกู๊ต” มีปัญหาในการประกอบกิจการถึงขั้น “เจ๊ง” หรือ “ปิดกิจการ” ก็ไม่น่าประหลาดใจอะไร เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาก็เห็นเค้าลางดังกล่าวมาโดยตลอด ยิ่งเมื่อมาเจอกับพิษ “โควิด-19” ขวิดเข้าให้อีก สถานการณ์ก็ยิ่งดิ่งเหวหนัก

ในช่วงราวเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ นกสกู๊ตได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า จากการประเมินทางธุรกิจในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 สายการบินได้ตัดสินใจดำเนินการปรับลดขนาดธุรกิจในปี 2563 ซึ่งการปรับเปลี่ยนในครั้งนี้เป็นไปตามแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจ ไม่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่ประการใด

ขณะเดียวกันการปรับลดขนาดธุรกิจในครั้งนั้นยังรวมไปถึงการเลิกจ้างพนักงานจำนวน 47 ตำแหน่ง ประกอบด้วย นักบิน 11 ตำแหน่ง และพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน 36 ตำแหน่ง ซึ่งได้ดำเนินการอย่างรอบคอบและเป็นไปตามกรอบของกฎหมายแรงงาน

นั่นคือร่องรอยอันผิดปกติที่ปรากฏในช่วงที่ผ่านมา

แต่ถ้าหากย้อนกลับไปดูผลประกอบการก็คงไม่น่าประหลาดใจเท่าใดนัก เพราะเห็นชัดๆ ว่า น่าเป็นห่วงมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน กล่าวคือ ปี 2559 รายได้ 3,910 ล้านบาท ขาดทุน 612 ล้านบาท ปี 2560 รายได้ 5,650 ล้านบาท ขาดทุน 47 ล้านบาท ปี 2561 รายได้ 5,920 ล้านบาท ขาดทุน 1,528 ล้านบาท

ก่อนหน้าที่ทางสายการบินจะยอมรับสภาพในวันที่ 26 มิถุนายน สองสามวันก่อนหน้านี้ได้เกิดกระแสข่าวลือในเรื่องดังกล่าวอย่างหนัก แต่ทางบริษัทก็ออกมายืนยันว่าไม่เป็นความจริง เป็นเพียงแค่การปรับลดขนาดองค์กร-ลดพนักงาน และโละเครื่องบินออกจากฝูง 3 ลำในสิ้นเดือนมิถุนายน 2563 นี้

แถมยังยืนยันเป็นมั่นเป็นเหมาะพร้อมกับมาบินให้บริการหลัง กพท. มีความชัดเจนประกาศให้บินระหว่างประเทศได้

ทว่า คล้อยหลังเพียงแค่ 2 วัน ทุกอย่างก็กระจ่างแจ้งโดยทางบริษัทยอมรับว่า จะเลิกกิจการจริงๆ

“สายการบินนกสกู๊ตรู้สึกเสียใจอย่างยิ่งที่จะประกาศให้ทราบว่า คณะกรรมการของบริษัทมีมติเลิกกิจการ โดยผู้ถือหุ้นของนกสกู๊ตจะลงมติเป็นอย่างเดียวกันในที่ประชุมใหญ่ที่จะมีขึ้นในอีกประมาณ 14 วัน หลังจากนกสกู๊ต สายการบินร่วมทุนราคาประหยัดระหว่างสายการบินนกแอร์ของคนไทย และสายการบินสกู๊ตจากประเทศสิงคโปร์ ก่อตั้งขึ้นในปี 2557 นกสกู๊ตดำเนินธุรกิจท่ามกลางความท้าทายในสถานการณ์ต่างๆรวมถึงข้อจำกัดในการขยายเครือข่ายการบิน ภายใต้สภาพแวดล้อมการแข่งขันที่รุนแรงและการระบาดของโควิด-19 ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงอย่างรุนแรง ด้วยเหตุนี้คณะกรรมการของบริษัท จึงไม่เห็นหนทางสู่การฟื้นตัวและการเติบโตที่ยั่งยืนของสายการบินอีกต่อไป

“จนถึงปัจจุบันมีพนักงานนกสกู๊ตที่ถูกเลิกจ้าง 425 คน โดยสายการบินนกสกู๊ตได้ชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานอย่างถูกต้อง ทั้งนี้พนักงานจำนวนหนึ่งยังคงปฏิบัติหน้าที่ เพื่อดำเนินการกระบวนการชำระบัญชีให้เสร็จสมบูรณ์ และพนักงานกลุ่มนี้จะได้รับการชดเชยอย่างถูกต้องเช่นเดียวกัน นกสกู๊ตจะชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมอีกครั้งเมื่อได้มีการแต่งตั้งผู้ชำระบัญชี และจัดให้เจ้าหนี้ได้ยื่นข้อเรียกร้อง นกสกู๊ตขอขอบคุณ ลูกค้า ผู้โดยสาร พันธมิตร และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกภาคส่วนสำหรับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2557”

นั่นคือแถลงการณ์ของคณะกรรมการบริษัท


ขณะที่สายการบินนกแอร์ โดย นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) ออกแถลงการ์ว่าเหตุการณ์ดังกล่าว ไม่ส่งผลกระทบกับแผนการบินและการให้บริการของสายการบินนกแอร์แต่อย่างใด โดยนกแอร์จะให้บริการการบินในเส้นทางบินภายในประเทศตามปกติ

ทว่า แม้จะบอกว่าไม่กระทบกับแผนการบินและการให้บริการของนกแอร์ แต่ก็กระทบกับ “เม็ดเงิน” ที่สูญเสียไปจากการลงทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งไม่เพียงแค่นกแอร์เท่านั้น หากรวมถึง “การบินไทย” ด้วย เพียงแต่ในระยะยาวแล้วอาจจะเป็นผลดีกับทั้งสองบริษัทมากกว่า เพราะการประกอบกิจการนกสกู๊ตมีแต่ “ขาดทุน” มาอย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะการบินไทยซึ่งที่ผ่านมาการจัดตั้งนกสกู๊ตมีข้อครหาว่า ถูกสวมสิทธิดำเนินธุรกิจการบินทั้งเส้นทางภายในประเทศและเส้นทางระหว่างประเทศซึ่งเคยเป็นของการบินไทย

ในครั้งนั้น นายโยธิน ภมรมนตรี นายสุเทพ สืบสันติวงศ์ อดีตผู้บริหารบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้เคยตั้งข้อกังขาพร้อมทั้งยื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มาแล้ว

“มีผู้บริหารบางคนของการบินไทย ในฐานะบริษัทผู้ถือหุ้นใหญ่ของนกแอร์ สนับสนุนเห็นชอบให้สายการบินนกแอร์ไปร่วมทุนกับบริษัท สกู๊ตแอร์ ซึ่งเป็นลูกของสิงคโปร์แอร์ไลน์ และจัดตั้งเป็น ‘สายการบินนกสกู๊ต’ ทำการบินแข่งกับการบินไทย ในเส้นทางเดียวกัน โดยเช่าเครื่องบินเก่ามาจากสิงคโปร์แอร์ไลน์ ทำการซ่อมบำรุงโดยสิงคโปร์ แต่ ‘สวมสิทธิ’ ใช้สิทธิการบินของประเทศไทย ซึ่งสร้างความเสียหายในระยะยาวให้แก่การบินไทยอย่างมหาศาล” กัปตันโยธิน ระบุ

ทั้งนี้ เรื่องราวของ “นกสกู๊ต” นั้นมี ความสลับซับซ้อนและเต็มไปด้วยเงื่อนงำอันเกิดคำถามตามมามากมาย โดยจุดกำเนิดมาจากความร่วมมือทางธุรกิจระหว่าง “สายการบินนกแอร์” กับ “สายการบินสกู๊ต” จากประเทศสิงคโปร์ ในยุคที่ “เดอะดุ๊ง-พาที สารสิน” เป็นแม่ทัพใหญ่

นกแอร์จัดประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2557 มีมติร่วมลงทุนจัดตั้งบริษัท สายการบินนกสกู๊ตฯ ร่วมกับ SCOOT PTE LTD. (สกู๊ต) บริษัทลูกของ สิงคโปร์แอร์ไลน์ ซึ่งมีกลุ่มเทมาเส็กถือหุ้นใหญ่ จากนั้นเข้าซื้อหุ้นของ บริษัท พีทแอร์ จำกัด

ตรงนี้ ต้องขีดเส้นใต้ที่ชื่อ พีทแอร์ เอาไว้ เพราะ ในขณะที่ผู้บริหารสายการบิน พีทแอร์ ได้ดำเนินการขอใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (AOC) ผู้บริหารของสายการบินนกแอร์ ก็เสนอการจัดตั้ง สายการบินนกสกู๊ต ต่อคณะกรรมการบริษัทฯ ในเดือน ธันวาคม 2556 จะเห็นได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่สอดคล้องกัน

และภายหลังจากที่ได้ทราบผลการประชุมผู้ถือหุ้นนกแอร์ในวันที่ 9 เมษายน 2557 ที่อนุมัติการจัดตั้ง สายการบินนกสกู๊ต (ที่ได้เสนอจัดตั้งไปเมื่อเดือนธันวาคม 2556) ทางด้านผู้บริหารสายการบิน พีทแอร์ ก็ได้ทำการเช่าเครื่องบินแบบ B777 มาจากสายการบินสิงคโปร์ เป็นเครื่องบินที่มีอายุใช้งาน 13.9 ปี มาขอจดทะเบียนไทย

“เมื่อฝ่ายบริหาร พีทแอร์ จดทะเบียนเครื่องบินดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว นกแอร์ ก็ทำการเช่าเครื่องบินจาก พีทแอร์ อีกต่อหนึ่งเพื่อนำไปบินในเส้นทางของนกแอร์ ในระหว่างนั้นผู้บริหารนกแอร์ กับ สกู๊ต ของสิงคโปร์ก็ได้ดำเนินการเข้าซื้อหุ้นของ บริษัท พีทแอร์ จำกัด เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2557 ปรากฏหลักฐานมีการเปลี่ยน Trading Name ของ สายการบิน พีทแอร์ เป็น นกสกู๊ต แบบเนียนๆ ภายใต้ AOC ของ พีทแอร์ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2557 เช่นนี้ การกระทำเช่นนี้จะถือเป็นการสวมสิทธิ์กันหรือไม่ มีใครรู้เห็นเป็นใจอย่างไร กรมการบินพลเรือน (ชื่อเดิม) คงต้องตอบคำถามในข้อนี้ เมื่อกระบวนการทุกอย่างสำเร็จเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว คือ ได้เข้ามาปฏิบัติการเป็นสายการบินลูกครึ่งเต็มรูปแบบโดยไม่ต้องออกแรง เพื่อมุ่งหวังเข้ามาแข่งขัน และแย่งตลาดการบินกับสายการบินไทยโดยตรง ที่เจ็บปวดคือ มีอดีตผู้บริหารการบินไทยที่มีส่วนนำพาก่อตั้งให้สายการบินนี้เกิดขึ้นในขณะที่ตนยังคงนั่งเป็นผู้บริหารของการบินไทยอยู่ในเวลานั้น

“สิ่งที่ค้นพบความไม่ชอบมาพากลอีกเรื่องหนึ่ง เป็นผลต่อเนื่องจากการครอบครองสายการบิน จากเจ้าของเดิมโดยไม่ต้องออกแรงแล้ว (ภาษาชาวบ้านอาจเรียกว่า ซื้อใบอนุญาตมา) ยังพบว่าได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท สายการบิน นกสกู๊ต จำกัด เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2557 เพียง 4 วันหลังการได้มีการเปลี่ยนชื่อที่ใช้เรียกของสายการบิน (Trading name) ในใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (AOC) จากกรมการบินพลเรือน (ชื่อเดิม) เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2557 ซึ่งชื่อจดทะเบียนบริษัทในใบ AOC นั้น ยังคงเป็น PETE AIR CO.,LTD (AOC 202 3/2557) มาเป็น AOC ของ นกสกู๊ต (AOC 216 17/2557) โดยสมบูรณ์ ก็เท่ากับบริษัท PETE AIR CO., LTD ที่ได้ปฏิบัติการบินภายใต้ชื่อ Trading name ว่า พีทแอร์ ก็เป็นอันจบ และจากไปอย่างเงียบที่สุด”กัปตันโยธินร่ายยาวหลังทราบข่าวว่านกสกู๊ตเลิกกิจการ

จากนั้น วันที่ 19 มิ.ย. 2557 นกแอร์มีหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่องการจัดตั้ง “บริษัท นกมั่งคั่ง จำกัด” เพื่อเป็นบริษัทลูก เข้าร่วมกับสกู๊ต เข้าไปถือหุ้นใหญ่ในบริษัท สายการบินนกสกู๊ตฯ และเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท สายการบิน นกสกู๊ต จำกัด เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2557

ขณะที่บริษัท นกมั่งคั่ง จำกัด จดทะเบียนก่อตั้งเมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2557 โดย “นายพาที และนายโชคชัย ปัญญายงค์” ทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท มีบริษัท สายการบินนกแอร์ฯ ถือหุ้น 50% นายพาที ถือหุ้น 50% มีนายโชคชัย เป็นกรรมการบริษัท

ขณะเดียวกันที่ประชุมผู้ถือหุ้นนกแอร์ มีมติอนุมัติให้บริษัท นกมั่งคั่งฯ กู้เงินไม่เกิน 970 ล้านบาท เพื่อลงทุนในการถือหุ้นในบริษัท สายการบินนกสกู๊ตฯ

นี่คือความสลับซับซ้อนในการทำธุรกิจ

คงต้องอธิบายความซับซ้อนเรื่องการถือหุ้นสักนิด

นกสกู๊ต เป็นการร่วมทุนระหว่าง นกแอร์ กับ สายการบินสกู๊ต ที่มี สิงคโปร์ แอร์ไลน์ ถือ หุ้น 100% ในขณะที่นกแอร์ มีการบินไทยถือหุ้น 39%

ผู้ถือหุ้นนกสกู๊ต ได้แก่ สายการบินสกู๊ต ถือหุ้น 49% นกแอร์ถือหุ้น 49% และ อีก 2% คือ ตัวแทน (Nominee) และในจำนวน 49% ที่นกแอร์ถือหุ้นนี้ 19% เป็นของการบินไทย

เมื่อครั้งที่จับมือกัน นายพาทีประกาศออกมาชัดแจ้งว่า “พวกเราทุกคนที่นกแอร์รู้สึกตื่นเต้นกับการร่วมมือกับสกู๊ตในครั้งนี้ ในการขยายเส้นทางบินของเราไปยังต่างประเทศ ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายของนกแอร์เองอยู่แล้ว ที่จะเป็นทางเลือกที่คุ้มค่าในการเดินทางของพี่น้องชาวไทย และครั้งนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่ได้ต้อนรับผู้โดยสารต่างชาติได้มาเที่ยวประเทศไทยอีกด้วย เพื่อเป็นการกระตุ้นธุรกิจการท่องเที่ยวของประเทศให้คึกคักยิ่งขึ้น”

ด้าน MR. Campbell Wilson, CEO ของ Scoot กล่าวเสริมในตอนนั้นว่า “ประเทศไทยถือเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของนักท่องเที่ยว และถือเป็น Hub สำคัญในภูมิภาคที่สกู๊ตให้ความสำคัญ พวกเราที่สกู๊ตรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับนกแอร์ ซึ่งเป็นสายการบินราคาประหยัดที่ได้รับความยอมรับในประเทศไทย ในการตั้ง “นกสกู๊ต” เพื่อให้บริการเส้นทางบินระยะกลางและระยะไกล ด้วยเครื่องบินแบบลำตัวกว้างซึ่งสกู๊ตมีความพร้อมในส่วนนี้อยู่แล้ว เราต่างหวังว่าการร่วมมือกันครั้งนี้จะพัฒนาตลาดการบินในภูมิภาค และเพิ่มความสะดวกสบายในการเดินทางทั้งชาวไทยและต่างชาติได้มากขึ้น”

ทว่า การประกอบธุรกิจของนกสกู๊ตก็มิได้สดใสเหมือนอย่างที่ได้วาดฝันเอาไว้แต่ประการใด กระทั่งเดินทางมาถึง “จุดจบ” ในเดือนมิถุนายนปี 2563

ขณะที่หุ้นส่วนธุรกิจของนกสกู๊ตก็มีสภาพย่ำแย่ไม่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น “สายการบินนกแอร์” ที่เวลานี้ตกอยู่มือของ “จุฬางกูร” ( หทัยรัตน์ ณัฐพล ทวีฉัตร จุฬางกูรถือหุ้นรวมกัน 74.96%) คงต้องติดตามกันต่อไปว่า จะสามารถฝ่าฝันสถานการณ์ดิ่งเหวของธุรกิจสายการบินยุคโควิด-19ไปได้อย่างไร

“การบินไทย” ผู้ถือหุ้นรายสำคัญของนกแอร์(ถือหุ้น 13.28%) ก็เดินหน้าสู่การฟื้นฟูกิจการพร้อมกับตัวเลขหนี้สะสมก้อนมโหฬาร 3.5 แสนล้านบาทและยังไม่รู้ว่าจะออกหัวหรือออกก้อย

ขณะที่ สิงคโปร์แอร์ไลน์ อีกหนึ่งผู้ถือหุ้นของนกสกู๊ตก็เผชิญกับความยากลำบากไม่น้อย โดยผลการดำเนินการของกลุ่มบริษัทปี 2019/20 จนถึงช่วงเดือนสิ้นมีนาคมที่ผ่านมา ขาดทุนสุทธิที่ 212 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือกว่า 4,773 ล้านบาท ถือเป็นการขาดทุนรายปีครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 48 ปีของสายการบินนับตั้งแต่เปลี่ยนชื่อจาก Malayan Airways ในปี 1972 กระทั่ง เทมาเส็ก โฮลดิงส์ กองทุนเพื่อการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ และนักลงทุนรายอื่นๆ ได้เข้าช่วยเหลือ ด้วยการอัดฉีดเงินเป็นจำนวนสูงถึง 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (1.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) เพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้กับSIA ที่เผชิญกับปัญหาทางการเงิน หลังได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19

ธุรกิจการบินวิกฤตขนาดไหนพิสูจน์ได้จากการที่ “แอร์บั” ผู้ผลิตเครื่องบินสัญชาติยุโรปเปิดเผยข่าวอันน่าตื่นตระหนกว่า มีแผนปรับลดพนักงานลงราวๆ 15,000 อัตราทั่วโลก หรือประมาณ 11% ของคนงานทั้งหมด ตอบสนองต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ที่ทางบริษัทแห่งนี้ให้คำจำกัดความว่าเป็น “วิกฤตเลวร้ายที่สุด” เท่าที่อุตสาหกรรมการบินเคยเผชิญมา

เช่นเดียวกับ “บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)” หรือ ทอท. ที่ออกมายอมรับว่าพิษโควิด-19 ได้ทำให้ผู้โดยสารในรอบ 8 เดือนลด 66.32% เที่ยวบินหาย 55.28% แถมประเมินด้วยว่าธุรกิจการบินจะฟื้นตัวกลับไปเหมือนเดิมต้องใช้เวลาอีก 2 ปี




July 04, 2020 at 06:03AM
https://ift.tt/2ZGQ2IW

“นกสกู๊ต” เจ๊งก็คือเจ๊ง ถามชาวประมงก็คงไม่เข้าใจ แต่ถ้าถาม “นกแอร์-การบินไทย” น่าจะรู้เรื่อง - ผู้จัดการออนไลน์

https://ift.tt/30eagvn


Bagikan Berita Ini

0 Response to "“นกสกู๊ต” เจ๊งก็คือเจ๊ง ถามชาวประมงก็คงไม่เข้าใจ แต่ถ้าถาม “นกแอร์-การบินไทย” น่าจะรู้เรื่อง - ผู้จัดการออนไลน์"

Post a Comment

Powered by Blogger.